พัฒนาการทารก แรกเกิด-12 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย

ถึงแม้ว่าทารกช่วงแรกเกิด – 12 เดือนนั้นจะยังเป็นเด็กเล็ก แต่รู้ไหมคะว่า พัฒนาการทารก ในแต่ละเดือน ก็มีความแตกต่างกัน เด็กทารกในช่วงไหนจะทำอะไรได้บ้าง และจะมีวิธีกระตุ้น พัฒนาการทารก อย่างไร วันนี้ทางเคเจเจริญทอยส์ ได้นำข้อมูลดีๆ มาฝากกันอีกเช่นเคยค่ะ
 พัฒนาการทารก

พัฒนาการทารก ช่วงแรกเกิด

  • ทารกช่วงแรกเกิดต้องการการนอนหลับที่เพียงพอ ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง โดยจะนอนหลับนาน 17 – 18 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้นอนในบรรยากาศที่สงบเงียบและไม่มีเสียงดังรบกวน
  • การมองเห็นของลูกน้อยยังไม่ดีนัก เมื่อสายตากระทบแสงมักจะต้องหยีตา
  • ลูกรับรู้ความรู้สึกได้จากการถูกสัมผัส และสามารถคว้าจับสิ่งของได้ หากคุณแม่สอดนิ้วเข้าไปลูกจะกำนิ้วแน่น
  • ลูกสามารถขยับแขน ขา กระพริบตา ส่ายศีรษะไปมาได้ เมื่อมีสิ่งมากระทบ เช่น คุณแม่มาสัมผัสตัว ลูกจะหดแขนขา หรือกางแขนขาออก
  • ลูกสนใจใบหน้าของคุณแม่ และคนที่อยู่ใกล้ๆ
  • เวลาหิวจะส่งเสียงร้องออกมา

การกระตุ้น พัฒนาการทารก ช่วงแรกเกิด

คุณแม่ชวนพูดชวนคุย ร้องเพลงกล่อม สื่อความรักด้วยการโอบกอด อุ้ม เพื่อให้ลูกเรียนรู้ความรักของคุณแม่ผ่านการสัมผัส
พัฒนาการทารก 1 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 1 เดือน

  • ลูกเริ่มนอนนานขึ้น 4-5 ชั่วโมง นอนหลับและตื่นสลับกัน 7-8 ครั้งต่อวัน
  • สายตาเริ่มดีขึ้น ลูกเริ่มมองเห็นใบหน้าของคุณแม่ชัดขึ้น และเริ่มจดจำสิ่งของที่ใช้บ่อยๆ
  • ลูกเริ่มเรียนรู้เรื่องเวลา เช่น ทุกคนต้องเข้านอนตอนกลางคืน และอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น
  • ลูกยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงได้ และมักจะหงายไปข้างหลัง ดังนั้น คุณแม่ควรประคองบริเวณบริเวณคอของทารกน้อยวัยให้ดี
  • เมื่อเวลาที่ต้องการขอความช่วยเหลือ ลูกจะส่งเสียงร้อง และเงียบเสียงลงเมื่อมีคนอุ้มเริ่มรู้จักโต้ตอบเมื่อได้ยินเสียงเรียก
  • ลูกเริ่มพลิกตัวตะแคงเวลานอนได้
  • ลูกเริ่มแสดงอารมณ์โดยการยิ้มเวลาพอใจ แต่หากไม่พอใจลูกจะร้องไห้

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 1 เดือน

  1. นำโมบายมาติดไว้ที่ปลายเตียง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นและการได้ยิน
  2. พาลูกอุ้มเดินพูดคุย หรือร้องเพลงให้ลูกฟังบ่อยๆ กล่อมลูกด้วยเสียงร้องของตัวเองจะช่วยทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดีมากยิ่งขึ้น

พัฒนาการทารก 2 เดือน

พัฒนาการทารกวัย  2 เดือน

  • ทารกวัย 2 เดือนส่วนใหญ่จะกินนมทุก 4 ชม. และนอนหลับยาวประมาณ 7 – 8 ชม ในตอนกลางคืน เด็กบางคนมีอาการร้องโคลิคในช่วงวัยนี้
  • ลูกเริ่มจำเสียงและสัมผัสของแม่ได้มากขึ้น เวลาแม่มาพูดคุย เล่านิทาน หรือร้องเพลง เมื่อลูกได้ยินแล้วก็พยายามส่งเสียงร้องอ้อแอ้ และขยับแขนขาไปด้วย
  • ลูกเริ่มมองเห็นในระยะ 8 – 9 นิ้ว และใช้กล้ามเนื้อมือดีขึ้น อยากไขว่คว้าหยิบสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว
  • ลูกรู้จักการส่งยิ้มให้กับคนที่เขาคุ้นเคย เช่น คุณพ่อ คุณแม่
  • ลูกแสดงอาการหงุดหงิด ดีใจ ไม่พอใจ ให้เห็นมากขึ้น และรู้จักการดูดนิ้วเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ของตนเอง   

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 2 เดือน

  1. ช่วยส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือและตาให้สัมพันธ์กัน เช่น หาของเล่นประเภทมีเสียงให้ลูกถือเขย่า จับแขน ขา ลูกยกขึ้น-ลงอย่างอ่อนโยน
  2. พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ลองทำเสียงต่างๆ เช่น เสียงสัตว์ หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง

พัฒนาการทารก 3 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 3  เดือน

  • ลูกเริ่มรู้จักใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้ามากขึ้น และเริ่มคุ้นเคยกับแม่และคนในบ้าน
  • ลูกจำเสียงแม่ได้ และเริ่มฟังเสียงที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น เสียงนก เสียงแมว เสียงหมาเห่า เสียงดนตรี
  • ลูกเริ่มเล่นกับมือของตัวเอง และใช้มือไขว่คว้าจับของเล่น หรือสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวมาเล่น
  • ลูกเริ่มยกศีรษะได้ประมาณ 45 องศา เมื่อจับลูกนั่งลูกจะพยายามตั้งศีรษะให้ตรง
  • เมื่อแม่พูดคุยด้วยลูกก็จะพยายามส่งเสียงอืออาเพื่อตอบสนอง เด็กในช่วงวัยนี้จะแสดงความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานขึ้น นิ่งฟังได้นานขึ้นกว่าเดิม
  • ลูกเริ่มมีความรู้สึกว่าไม่อยากถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวนานๆ เขาจึงร้องเพื่อให้คุณแม่ให้ความสนใจ

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 3 เดือน

  • หาของเล่นเช่น ลูกบอลผ้าสักหลาด หรือของเล่นมีเสียงกรุ๊งกริ๊ง มาถือบนมือแล้วเคลื่อนย้ายจากทางซ้ายไปทางขวาช้าๆ เพื่อให้ลูกมองตาม
  • ยื่นของเล่นให้ลูกเอื้อมมือมาจับ และให้ลูกลองถือของเล่นกรุ๊งกริ๊งแล้วจะมีเสียง

พัฒนาการทารก 4 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 4 เดือน

  • สายตาลูกเริ่มดีขึ้น มองเห็นได้ไกลขึ้น สมอง ตา และกล้ามเนื้อคอทำงานประสานกันดี ลูกสามารถก้ม มอง เงย เอี้ยวซ้ายเอี้ยวขวามองได้รอบๆ ตัว
  • ลูกหยิบจับสิ่งของได้ทั้งสองมือ และย้ายของจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งได้
  • ทารกวัย 4 เดือนเริ่มเหยียดแข้งเหยียดขาได้ตามอิสระ
  • ลูกเริมคว้าจับสิ่งของใกล้ๆตัวมากขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรรวบผมให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ลูกดึงผมเล่น
  • ลูกเริ่มส่งเสียงอืออาและชอบเล่นน้ำลาย
  • ลูกเริ่มมีอาการติดสิ่งของบางอย่าง เช่น ติดผ้า หรือของนุ่มๆ และมีของที่ชอบชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ
  • เริ่มสนใจคนและสิ่งของรอบข้างมากขึ้น สนใจเงาตัวเองในกระจก
  • รู้จักการแสดงออกด้วยการส่งเสียงเสียงดัง เวลาไม่พอใจ หรือไม่สบายเนื้อตัว

 

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 4 เดือน

  • จับลูกนั่งตักแล้วจับส่วนต่างๆ บนใบหน้าของเขาพร้อมกับพูดเสียงช้าๆ ชัดๆ ว่านี่หูของ (ชื่อลูก) นี่จมูกของ (ชื่อลูก) นี่ปากของ (ชื่อลูก)
  • จากนั้น ทำสลับกันกับคุณแม่บ้าง ใช้นิ้วชี้มาที่ส่วนต่างๆ บนใบหน้าคุณแม่ แล้วพูดว่า นี่หูของแม่ นี่จมูกของแม่ และนี่ปากของแม่ เพื่อให้ลูกจดจำได้ดีขึ้น
  • ในวัยนี้ลูกอาจเบื่อที่จะต้องอยู่แต่ในที่นอนเดิมๆ แล้ว คุณแม่อาจหาเบาะนุ่มๆ เล็กๆ มาวางกลางบ้าน เพื่อให้ลูกได้มองเห็นคนนั้น คนนี้ และสิ่งของใกล้ๆ ตัว

พัฒนาการทารก 5 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 5  เดือน

  • ทารกวัย 5 เดือนเริ่มไม่อยากจะนอนนิ่งๆ แล้ว เขาอยากจะเคลื่อนไหวร่างกายไปตรงนั้นตรงนี้ ลูกจะเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย ถีบแข้งถีบขา แม้จะยังนั่งได้ไม่ดีนัก แต่ก็ถือว่านั่งได้ดีขึ้นกว่าเดือน ก่อนๆ
  • ในช่วงนี้ ลูกจะเริ่มหยิบจับสิ่งของใกล้ตัวมาเขย่า ตี บีบ หรือเอาเข้าปากไปอม หรือกัด
  • ลูกเริ่มจำสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายๆ กันได้ และจำคำศัพท์จากสิ่งที่คุณแม่พูดหรือใช้บ่อยๆ
  • ลูกมีความสนใจต่อเสียงรอบตัวมากขึ้น เช่น เสียงโทรศัพท์ เสียงดนตรี แนะนำพวกของเล่นเด็ก กล่องกิจกรรม 7 ด้าน
  • ลูกแสดงอาการหงุดหงิดเมื่อคุณแม่ห้ามเขาเอาสิ่งของเข้าปาก เพราะทำให้ความเพลิดเพลินของเขาถูกขัดจังหวะ

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 5 เดือน

  • กระตุ้นให้ลูกเอื้อมมือมาจับของเล่น โดยการวางของเล่นไว้ใกล้ๆ ให้เขาพยายามไขว่คว้าหยิบไปเล่น
  • จัดหาของเล่นที่มีความปลอดภัย ไม่แหลมคม มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน และของเล่นมีเสียงให้ลูกเล่น

พัฒนาการทารก 6 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 6 เดือน

  • ทารกในวัย 6 เดือนเริ่มพลิกตัวและเอี้ยวตัวได้อย่างคล่องแคล่ว
  • ลูกเริ่มสังเกตว่า ของที่ตกลงพื้นแล้วจะเป็นอย่างไร มีเสียงไหม หรือกลิ้งไปในทิศทางใด
  • ลูกเริ่มเข้าใจกิจวัตรประจำวันว่าเดี๋ยวแม่ต้องพาไปอาบน้ำ กินนม เล่นของเล่น
  • เด็กวัย 6 เดือนจะนั่งได้มั่นคงมากขึ้น เริ่มคืบไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้บ้างแล้ว
  • ลูกเริ่มรู้สึกคันเหงือก ไม่ค่อยสบายในปากจากการที่ฟันเริ่มจะขึ้น
  • ลูกพยายามส่งเสียงเพื่อสื่ออารมณ์ของตนเองแม้จะยังฟังไม่เป็นคำก็ตาม


การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 6 เดือน

  • คุณแม่ควรหายางกัดลวดลายน่ารัก ขนมปังกรอบ หรือผักผลไม้เนื้อแข็งมาให้ลูกกัดเล่นแก้คันเหงือก
  • ชวนลูกเล่นจ๊ะเอ๋ ทำหน้า หรือท่าทางตลกให้ลูกดูลูกจะชอบมากและหัวเราะเอิ๊กอ๊าก
  • หาของเล่นผ้า ตุ๊กตา หรือของเล่นบีบแล้วมีเสียงมาให้ลูกเล่น รวมถึงกระจกพลาสติก ไว้ให้ลูกส่องดูตัวเอง

พัฒนาการทารก 7 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 7 เดือน

  • ทารกวัย 7 เดือนเริ่มเรียนรู้ได้มากขึ้น เด็กเริ่มมองอวัยวะต่างๆ ของตัวเอง
  • ตอนนี้ลูกเริ่มนั่งได้มั่นคงแล้ว และพยายามที่จะเคลื่อนไหวร่างกายไปสำรวจตรงนั้นตรงนี้
  • ลูกเริ่มหยิบจับสิ่งของได้คล่องมากขึ้น และใช้มือหยิบอาหารใส่ปากเอง
  • ลูกเริ่มเรียนรู้ชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัว จำภาพสัตว์กับเสียงร้องของสัตว์ได้มากขึ้น
  • เริ่มพูดออกเสียงเป็นคำๆ
  • ลูกมีอาการติดแม่มากขึ้น แต่ยังไม่ไว้ใจคนอื่นๆ หากใครเขาใกล้หรือจะมาแตะเนื้อต้องตัว เขาจะพยายามขืนตัวหนี

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 7 เดือน

  • หาของเล่นที่มีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันมาให้ลูกเล่น
  • เมื่อคุณแม่ยื่นของเล่นให้ลูก ควรพูดช้าๆ ชัดๆ ด้วยว่าของสิ่งนั้นคืออะไร เพื่อช่วยพัฒนาการด้านภาษา
  • เวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ให้ออกเสียงแบบมีชีวิตชีวา ลูกจะชอบ เมื่อเขามีความสุขแล้วเขาจะอยากให้แม่เล่าเรื่องนั้นให้ฟังบ่อยๆ เป็นการปูพื้นฐานเรื่องการอ่าน

พัฒนาการทารก 8 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 8 เดือน

  • ทารกวัย 8 เดือน เริ่มเรียนรู้แล้วว่าเขาก็เหมือนกับคนอื่นๆ และอยากเคลื่อนไหวตัวเองได้เช่นกัน เด็กวัยนี้จะพยายามทำท่าทางเลียนแบบคนที่อยู่รอบข้าง
  • ลูกชอบเล่น ยิ้ม และลูบคลำภาพในกระจก
  • ลูกเริ่มสนใจสิ่งของมากกว่า1 ชิ้น และอยากรู้ว่าหากนำของสองชิ้นมากระทบกันแล้วจะเป็นอย่างไร
  • ลูกเริ่มคุ้นเคยว่าว่าอะไรอยู่ตรงไหน เวลานี้คุณแม่จะทำอะไร เช่น พาไปอาบน้ำ มีอะไรอยู่ในห้องอาบน้ำบ้าง
  • ลูกเริ่มลุกจากท่านอนไปนั่งได้แล้ว เด็กบางคนจะคืบได้ และเด็กบางคนจะคลานได้ในช่วงเวลานี้เอง
  • ลูกเริ่มเรียนรู้เรื่องภาษามากขึ้น และพยายามพูดคำซ้ำๆ เพื่อเลียนแบบคนอื่นๆ

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 8 เดือน

  1. ควรให้ลูกได้เคลื่อนที่บนพื้นผิวบนเสื่อหรือเบาะ เพื่อให้คืบคลานได้ตามใจ แต่ควรระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยบริเวณปลั๊กไฟ มุมโต๊ะ มุมตู้ และกลอนประตูด้วยค่ะ
  2. อ่านนิทานให้ลูกฟัง และใช้มือชี้ให้ลูกดูว่าอันนี้กระต่าย อันนี้นก อันนี้ต้นไม้เพื่อให้ลูกจดจำและเข้าใจได้มากขึ้น

พัฒนาการทารก 9 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 9 เดือน

  • ทารกวัย 9 เดือนเริ่มคลานได้คล่องขึ้นแล้ว และบางคนอาจจะคลานไปด้วยถือของเล่นไปด้วยก็ได้
  • ลูกเริ่มจดจำได้ดีขึ้นว่าอะไรอยู่ตรงไหน ถ้าคุณแม่เอาของเล่นไปซ่อนใต้หมอนลูกจะพยายามเปิดหา
  • กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานได้ดีขึ้น เริ่มหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กๆ ได้แล้ว
  • ลูกเริ่มเป็นนักสำรวจอยากรู้ว่าถ้าใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปในรูแล้วจะเป็นอย่างไร ดังนั้น คุณแม่จึงต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในบ้านมากขึ้น
  • ลูกเริ่มพูดคำ 1-2 พยางค์สั้นๆ ได้ เช่น มะมา ประปา
  • ลูกเริ่มรับรู้ว่าทำแบบไหนแล้วจะมีคนชมหรือทำแบบไหนจะโดนดุ

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 9 เดือน

  1. เพื่อเป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า เวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังควรพูดถึงรายละเอียดเพิ่มเติมลงไปด้วย เช่น กระต่ายหูยาว กระรอกสีน้ำตาล กุหลาบสีแดง แมวน้อยมีหูสองหู มีขาสี่ขาและมีหนึ่งหาง เป็นต้น ฝึกลูกดมกลิ่นจากดอกไม้ อาหาร และผลไม้ ให้ลูกชิมรสอาหารต่างๆ ทั้งเปรี้ยว หวาน ขม เพื่อดูว่าลูกมีความรู้สึกอย่างไร
  1. คอยระมัดระวังความปลอดภัยในบ้านโดยใช้มุ้งครอบพัดลม และถ้าจะให้ดี ตำแหน่งปลั๊กไฟควรอยู่สูงพ้นมือลูก แต่ถ้าหากแก้ไขเรื่องตำแหน่งปลั๊กไฟไม่ได้ อาจหาที่ครอบมาอุดรูปลั๊กไฟ

พัฒนาการทารก 10 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 10 เดือน

  • ทารกวัย 10 เดือน เริ่มอยากเลียนแบบคุณแม่ และคนใกล้ชิดรอบตัว เช่น เมื่อคุณแม่ป้อนอาหารเขา เขาก็อยากป้อนอาหารให้คุณแม่บ้าง
  • ลูกเริ่มสังเกตความแตกต่างของเด็กผู้ชายเด็กผู้หญิง และรู้จักอวัยวะในร่างกายตัวเอง
  • ลูกเริ่มอยากทดลองทำอะไรด้วยตนเอง อยากรู้ว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
  • ลูกนั่งได้ดี และเอี้ยวตัวไปหยิบจับสิ่งของใกล้ตัวได้ ไม่ล้ม เกาะเดิน เพื่อไปหยิบสิ่งของได้ถนัดขึ้น
  • ลูกเริ่มแสดงอาการพอใจ หรือไม่พอใจอย่างชัดเจน

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 10 เดือน

  1. เด็กในวัยนี้จะพยายามหัดทำอะไรด้วยตนเอง และอยากเดิน ลูกจะเริ่มด้วยการนั่ง เกาะยืน และเริ่มตั้งไข่ แม้ว่าจะยังทำได้ไม่ดีนัก แต่หากคุณแม่ชมและให้กำลังใจ เขาจะค่อยๆทำได้ดีขึ้น
  2. คุณแม่ควรเตรียมเบาะ หรือผ้าปูนิ่มๆ เพื่อป้องกันเวลาลูกล้มแล้วจะหงายหลัง หรือเจ็บตัว
  3. ควรพูดกับลูกบ่อยๆ ช้าๆ ชัดๆ แม้เขาจะยังพูดได้ไม่ดีนักแต่ก็เป็นการปลูกฝังให้ลูกเข้าใจชื่อเรียกของสิ่งของต่างๆ ไปก่อน

พัฒนาการทารก 11 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 11 เดือน

  • ทารกวัย 11 เดือนเริ่มมีสมาธิในการฟังมากขึ้น และพยายามหัดทำอะไรด้วยตนเอง เช่น หัดเดิน หัดตักข้าวใส่ปาก
  • ลูกเรียนรู้ชื่อสิ่งของใกล้ตัว และชื่อของสัตว์เลี้ยงได้ เขาจะสนใจรูปที่อยู่ในหนังสือมากขึ้น
  • ถ้าคุณแม่บอกให้เขาทำอะไร เขาจะพยายามทำให้ดี และต้องการคำชม เมื่อกินนมหมดแก้ว ลูกจะชูแก้วขึ้น เพื่อให้คุณแม่พูดชมนั่นเอง
  • คุณแม่จะเห็นว่าลูกดื้อหรือไม่ก็ในช่วงนี้ ลูกจะแสดงอาการปฏิเสธทันทีในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ หรือไม่อยากทำ



การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 11 เดือน :

  1. หาหนังสือภาพ โปสการ์ด นิตยสารที่มีรูปเยอะๆ มาเปิดแล้วชี้ชวนให้ลูกดูว่าของสิ่งนี้คืออะไร เพื่อเพิ่มคำศัพท์ใหม่ๆ มากขึ้น
  2. ฝึกให้ลูกได้ลองหยิบ จับ ขยำ โยน ขว้างของเล่น เพื่อฝึกการสัมผัส การสังเกตและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือไปในตัว
  3. ฝึกให้ลูกเคลื่อนไหวโดยการใช้รถไขลาน หรือตุ๊กตาไขลาน เพื่อให้ลูกรู้สึกอยากคลานตาม
  4. จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกสามารถหัดเดินได้อย่างปลอดภัย และถ้าล้มก็ไม่เจ็บมากนัก

พัฒนาการทารก 12 เดือน

พัฒนาการทารกวัย 12  เดือน

  • ทารกวัย 12 เดือน เริ่มเรียนรู้ผ่านการเล่น และกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ลูกจำได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน สามารถจดจำและทำท่าทางเลียนแบบคนรอบข้างได้ดีขึ้น
  • เด็กในวัยนี้สามารถแยกของเล่นตามสีและรูปร่างได้ และถือของเล่นหรือสิ่งของที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
  • เด็กบางคนอาจจะเดินได้คล่อง ในขณะที่บางคนเดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็ล้มลง คุณแม่และคนในบ้านควรช่วยกันให้กำลังใจ
  • ลูกพยายามเปล่งภาษาเพื่อพูดคุยมากขึ้น และแสดงอารมณ์ของตนเอง เวลาไม่พอใจ เสียใจ หรือโกรธเกรี้ยว
  • ลูกมีความหวาดกลัวว่าคุณแม่จะหายไปไหน ดังนั้น เมื่อคุณแม่หายไป และเมื่อเดินกลับมาใหม่ลูกจะโผเข้ามาสวมกอด
  • นิ้วของลูกแข็งแรงพอที่จะหยิบจับดินสอแท่งโตๆได้ พร้อมละเลงลวดลายไปตามจินตนาการ

การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 12 เดือน 

  1. การฝึกการเคลื่อนไหวและการสัมผัสสำหรับเด็กวัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรหมั่นพาลูกเดิน และประคองอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้เขามั่นใจที่จะลองยืนและเดินด้วยตนเอง
  2. ในช่วงแรกควรจูงมือให้ลูกเดินช้าๆ ในบริเวณบ้าน จากนั้นจึงพาไปสวนสาธารณะบ้าง สนามเด็กเล่นบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และเมื่อลูกเห็นเด็กๆคนอื่นๆ เดินหรือวิ่งกัน ลูกก็จะมีความรู้สึกอยากเดินตาม
  3. คุณแม่ควรร้องเพลงสั้นๆ แล้วทำท่าทางประกอบด้วย เช่น เพลงจับปูดำ จะทำให้ลูกสนุกและจดจำได้ง่าย
  4. ฝึกประสาทสัมผัสทั้งห้ามากขึ้น โดยการตบมือ หรือนำสิ่งของต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมาเคาะให้เกิดเสียง ทั้งนี้ ควรเป็นของที่ไม่แตกหักง่าย และใช้ของที่มีสัมผัสแตกต่างกัน เช่น สำลี กับสก็อตไบรท์มาถูกบริเวณที่แขนของลูกเบาๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้สัมผัสที่นุ่มหรือหยาบ

คุณแม่คงจะพอเห็นแล้วนะคะ ว่า พัฒนาการทารก ในแต่ละเดือนก็มีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ เด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน หากเห็นว่าลูกเรายังมีพัฒนาการไม่เท่ากับเด็กคนอื่นๆ ก็อย่าเพิ่งเครียดค่ะ ให้ความรัก ความอบอุ่นกับลูกอย่างเพียงพอ หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ และฝึกพัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ลูกรักก็จะมีพัฒนาการสมวัยที่ดีขึ้นค่ะ
เรียบเรียงข้อมูลพัฒนาการเด็ก จาก www.enfababy.comhttps://youtu.be/c1GrdzmLVTQ