เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น น้ำหนักของลูกก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย การที่จะให้คุณแม่อุ้มตลอดเวลานั้นคงจะไม่สะดวกแน่ การใช้ รถเข็นเด็ก เป็นตัวช่วย นอกจากจะทำให้คุณแม่ไม่ปวดแขน – หลัง – ไหล่ และมีเวลาพอที่จะได้ทำงานอื่นๆ บ้างแล้ว ลูกตัวน้อยยังพลอยสนุกกับการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเราได้ทุกที่อีกด้วย
แต่ทั้งนี้ การจะเลือกรถเข็นคันแรกให้ลูกสักคันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะ รถเข็นเด็ก ในท้องตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ และหลายรุ่น จนไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรดี นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องเด็กไม่ยอมนั่ง รถเข็นเด็ก ก็เป็นอีกประเด็นให้กังวลใจว่า ซื้อมาแล้วจะคุ้มไหม ซื้อมาแล้วลูกจะชอบหรือเปล่า วันนี้ทาง เคเจเจริญทอยส์ จึงได้นำสาระน่ารู้เรื่องรถเข็นเด็กมาเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจดังนี้ค่ะ
ข้อดีของรถเข็นเด็ก
- ช่วยเพิ่มความสะดวกเวลาเดินทางเวลาคุณพ่อ คุณแม่จะพาลูกน้อยไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่เที่ยวอื่นๆ เมื่อใช้รถเข็นก็จะช่วยให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
- มีความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย หากต้องอุ้มลูกข้างหนึ่ง เลือกของอีกข้างหนึ่ง คงต้องเมื่อยและหนักพอดูเลยล่ะค่ะ การที่ลูกอยู่ในรถเข็นจะทำให้เราพิจารณาดูสินค้า และราคาได้ง่าย
- กระชับความผูกพันในครอบครัว การพาลูกเดินทางไปพร้อมๆกับเราจะทำให้ลูกมีความสุข ความอบอุ่น ลูกไม่ต้องเหงารออยู่ที่บ้าน อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว
- ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ปัจจุบันนี้รถเข็นสำหรับเด็กถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์มายิ่งขึ้น หลายๆ ยี่ห้อ ออกแบบให้มีทั้งเสียงเพลงและตุ๊กตา ทำให้ลูกเพลิดเพลินไปกับการฝึกประสาทสัมผัสด้านการได้ยินและการมองเห็น
ปัจจัยในการเลือกซื้อ
- ควรเลือกแบบให้ตรงกับวัยและน้ำหนักของลูกเพราะรถเข็นเด็กแต่ละยี่ห้อและแต่ละรุ่นก็ออกแบบมาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย ทั้งนี้ ไม่ควรพิจารณาจากอายุเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงรูปร่าง น้ำหนักตัวของลูก และการปรับนอน เพื่อให้ลูกนอนได้สบายที่สุด
- ความปลอดภัย รถเข็นสำหรับเด็กควรมีโครสร้างและตัวล็อคที่แข็งแรง ไม่มีส่วนแหลมคมที่ยื่นออกมาบาดตัวลูก สายรัดมีความแน่นหนา และไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อตัวเด็ก
- ป้องกันแสงแดด ฝุ่นและลมได้ดี โดยพิจารณาจากหลังคาบังแดด และช่องหน้าต่างซึ่งเราสามารถมองเห็นลูกน้อยในขณะที่เข็นรถ และช่วยป้องกันจากสิ่งต่างๆ ที่อาจจะปลิวมาตามลมแล้วตกลงที่ตัวลูกได้
- สะดวกสบายในการใช้งาน รถควรเคลื่อนตัวได้ดี หมุนได้ตามทิศทางที่ต้องการ บางครั้งคุณแม่อาจจะต้องพาลูกขึ้นแท๊กซี่ จึงควรเลือกแบบที่ใช้พับเก็บและกางออกง่าย
- วัสดุที่ใช้ ควรมีความแข็งแรงทนทาน รองรับการกระแทกได้ดี ตัวผ้าในรถเข็นมีรูระบายอากาศ ทำให้หลังไม่ชื้นแฉะ และสามารถนำมาซักได้ เพื่อให้ลูกมีสุขอนามัยที่ดี
- ขนาดและการรับน้ำหนัก
– เหมาะกับลูกคนเดียวหรือลูกแฝด
– พื้นที่จัดเก็บในบ้าน
– ขนาดของรถยนต์ที่เราใช้
– ลองเข็นดูแล้วถนัดมือ ไม่ใหญ่เทอะทะเกินไปจนเราเข็นไม่สะดวก - วัตถุประสงค์ของการใช้งาน บางครอบครัวอาจจะชอบท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้น การเลือกรถเข็นสำหรับเด็กที่มี ความเหมาะสมต่อการขึ้นเครื่องบินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ
- บริษัทมีความเชื่อถือ / สินค้าได้มาตรฐาน
- ควรเลือกแบบที่แข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา และพับเก็บได้เผื่อเวลาที่เราไม่ได้ใช้งาน
- ตรวจสอบตัวล็อค ตัวล็อครถเข็นเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ควรสอบถามพนักงานขายอย่างละเอียด ว่าตัวล็อคอยู่ตรงไหน ใช้งานอย่างไร หากชำรุดจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ควรศึกษาให้ดี
- เปรียบเทียบราคาและคุณสมบัติก่อนซื้อ บางครั้งการซื้อของมือสองอาจไม่ได้ของราคาถูก เสมอไป การเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ อาจทำให้เราได้ของมือหนึ่งที่มีคุณสมบัติดีในราคาที่เราจับต้องได้ก็ได้นะคะ
- การบริการหลังการขาย อาจสอบถามจากเพื่อนๆ ที่ใช้รถเข็นเด็กยี่ห้อนี้ หรือหาจากคำวิจารณ์ของผู้ใช้จริงในอินเตอร์เนตก็ได้ค่ะ
- การส่งต่อ รถเข็นเด็กบางยี่ห้อมีคนนิยมเยอะเมื่อขายต่อเป็นมือสองก็ได้ราคาดี
ข้อควรระวังในการใช้รถเข็นเด็ก
- เวลาใช้รถเข็นเด็กควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ เพราะจะทำให้เราไม่มีสมาธิในการดูลูกอย่างเพียงพอ รถอาจลื่นไถลไปชนกับคนหรือรถคันอื่น และลูกเราอาจได้รับบาดเจ็บด้วย
- หากพาลูกไปห้างสรรพสินค้า ควรใช้ลิฟต์ขึ้น – ลงแทนบันไดเลื่อนจะปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าจำเป็นจะต้องใช้บันไดเลื่อนจริงๆ ควรอุ้มลูกน้อยออกมาจากรถเข็นเด็กก่อนจะปลอดภัยกว่า ป้องกันกรณีบันไดเลื่อนหยุดกะทันหันแล้วทำให้รถเข็นเด็กพลิกคว่ำ ลูกตกลงมา
- เมื่อเรายืนเลือกสินค้า หยุดคุยโทรศัพท์ หรือพูดคุยกับเพื่อน ควรล็อคล้อรถเข็นเด็กทุกครั้งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
- ควรหมั่นตรวจเช็ครถเข็นเด็กให้มีสภาพพร้อมใช้อยู่เสมอ
- ส่วนใหญ่เด็กจะชอบปีนป่ายจนตกลงมาจากรถเข็น ดังนั้น ควรตรวจสอบความปลอดภัยด้วยการล็อคให้เรียบร้อย
การดูแลเมื่อลูกตกจากรถเข็นเด็ก
- เมื่อเห็นลูกตกลงมา คุณพ่อ คุณแม่ควรควบคุมอารมณ์ตนเองให้ดี จากนั้นจึงรีบอุ้มลูกขึ้นมากอดประคองไว้ และปลอบขวัญให้ลูกหายตกใจกลัว
- ดูตามเนื้อตัวของลูกว่ามีรอยถลอก ฟกช้ำดำเขียว หรือเลือดออกตรงไหนบ้าง
- หากหัวโนหรือบวม ควรใช้ผ้าชุบน้ำแข็งหรือน้ำเย็นมาประคบไว้นานประมาณ 20 นาที หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่โนหรือบวมเพื่อให้บรรเทาลง
- หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว หากลูกยังพูดคุยรู้เรื่อง เล่นได้ ไม่ง่วงซึม ก็สบายใจได้ เดี๋ยวอาการเจ็บของลูกก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
- แต่หากสังเกตว่าลูกมีอาการง่วงซึม อาเจียน ปวดศีรษะมาก หรือร้องไห้ โยเยมากกว่าปกติ อย่านิ่งนอนใจ เพราะเลือดออกคั่งในสมองได้ ดังนั้น จึงควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ชอบ รถเข็นเด็ก
อุตส่าห์ซื้อรถเข็นเด็กดีๆ แพงๆ แต่พอเอามาแล้วลูกกลับไม่ยอมใช้ เป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจของคุณพ่อ คุณแม่ อยู่ไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะคะ ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าเด็กเล็กๆ เขาก็อยากอยู่ใกล้ชิดคุณพ่อ คุณแม่กันทั้งนั้น แม้ว่าจะได้ไปไหนมาไหนด้วยกันก็จริง แต่หนูต้องมานอนอยู่ในรถ มันไม่ได้ให้ความรู้สึกอุ่นใจเหมือนตอนที่คุณแม่อุ้มไว้เลยนี่นา นอกจากนี้ การนั่งอยู่เฉยๆ ก็น่าเบื่อ สู้ให้คุณพ่อ คุณแม่อุ้มก็ไม่ได้ สนุกและสบายกว่ากันเยอะ เขาจึงแสดงความไม่พอใจออกมา ซึ่งเรามีวิธีแก้ไขดังนี้ค่ะ
- ถ้าเป็นได้ เวลาไปเลือกซื้อรถเข็นเด็กควรพาลูกไปด้วย และให้ลูกลองนั่งดูว่าเขานั่งได้สบายตัวไหม ชอบหรือเปล่า ลูกทดลองนั่งแล้วเป็นอย่างไร
- เมื่อซื้อมาแล้วก็พาลูกนั่ง แล้วก็พาเดินเล่นรอบๆ บ้าน พูดคุยไปเรื่อยๆ พูดชมนก ชมไม้ระหว่างที่ป้อนข้าว ก่อนจะพาเขาออกไปนอกบ้านจริงๆ เพื่อจะได้ชินก่อนที่จะพาออกไปข้างนอก
- ตรวจสอบดูว่าลูกนั่งสบายตัวไหม เขาอาจจะอึดอัดเพราะสายรัดแน่นมากเกินไป หรือหลังชื้นแฉะ เพราะผ้าซับในระบายอากาศไม่ดี จะได้แก้ไขได้ตรงจุด
- หาของเล่นให้ลูก ทั้งนี้ ก่อนออกจากบ้าน ถ้าลูกโตจนพอรู้ความแล้วเราอาจจะให้เขาเป็นคนเลือกของเล่น หรือ ตุ๊กตาเองก็ได้ ว่า “วันนี้เราจะพาน้องคนไหนไปเที่ยวกันดี” ลูกจะได้รู้สึกว่าตนเองเป็นพี่ และไม่รู้สึกเบื่อ
- เด็กบางคนอาจจะกลัวที่ต้องนั่งรถเข็น ดังนั้น ในช่วงแรกๆ อย่าเข็นรถเร็วเกินไป ให้เขาค่อยๆ มั่นใจก่อนว่าไม่เป็นอันตราย ลูกก็จะค่อยๆ คลายความกังวลลงค่ะ
- ลองสลับด้าน จากที่ให้ลูกนั่งมองตรงไปข้างหน้า ให้ลองสลับอีกด้านให้เขามองเห็นเราแทน ลูกจะได้อุ่นใจว่าเราอยู่กับเขาด้วย จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
- ทำความเข้าใจลูกให้มากขึ้น ปล่อยให้เขาลงเดินบ้าง หรืออุ้มบ้าง แต่ไม่นานจนเกินไป ทำสลับๆกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา พบกันตรงครึ่งทางแล้ว เมื่อลูกเมื่อย เหนื่อย ง่วง เดี๋ยวเขาก็ยอมนั่งรถเข็นเด็กดีๆค่ะ
ทำอย่างไรเมื่อลูกติด รถเข็นเด็ก
เด็กบางคนไม่ชอบนั่งรถเข็นเด็กเลย ในขณะที่เด็กบางคนก็ชอบอกชอบใจ ชนิดที่ว่าต้องนอนในรถเข็นเด็กเท่านั้น ถ้าไปปลุก หรืออุ้มเขาขึ้นมาจะร้องโวยวายทันที เรื่องนี้มีวิธีแก้ไขมาฝากกันดังนี้ค่ะ
- ไม่พึ่งรถเข็นเด็กมากเกินไป
แม้ลูกจะนอนหลับได้ดีแต่ก็ไม่ควรให้ลูกนอนในรถเข็นเด็กมากเกินไป เพราะไม่สบายตัวเท่า ที่นอนสำหรับเด็กแน่นอน เมื่อลูกอิ่มนมหรืออาหารแล้วควรจับอุ้มพาดบ่า แล้วลูบหลัง หรือจะใช้วิธีอุ้มลูกให้นั่งบนตัก หันหน้าออกแล้วเราลูบหลังเขาเบาๆ ก็ได้ ช่วยให้สบายตัวได้เช่นกัน จากนั้นจึงร้องเพลงกล่อม ชวนพูดชวนคุย หรืออ่านนิทานให้ลูกฟังก็ได้ ให้เขารู้สึกเพลินจนกระทั่งง่วงและนอนหลับไปเองนอกจากนี้ การนั่งๆ นอนๆ ในรถเข็นเด็กมากไป อาจไม่ได้กระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวเท่าที่ควร ดังนั้น แม้ลูกจะโยเยไปบ้าง แต่เราก็ต้องพยายามใจแข็งไม่ตามใจลูกมากเกินไปค่ะ - หากิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจ
หากลูกติดรถเข็นเด็กมากจนแทบจะไม่ยอมลงมาเลย อาจใช้ของเล่น ลูกบอล ตัวต่อ หรือของเล่นมีเสียงมาทำให้ลูกสนใจและยอมลงมาเดิน และนั่งเล่นที่พื้นบ้าง - เก็บรถเข็นเด็กให้พ้นสายตา
เมื่อลูกเริ่มโตพอสมควรแล้ว รถเข็นเด็กอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่หากลูกยังงอแงด้วยอาการติดรถเข็นเด็กอยู่ ก็อาจจะต้องเอาไปซ่อน แม้ลูกจะร้องไห้บ้างแต่สักพักเขาจะปรับตัวได้เอง
การทำความสะอาด
- ถ่ายรูปรถเข็นเด็กไว้ ป้องกันกรณีที่เรากลัวว่าจะใส่กลับไปไม่ถูก
- ถอดเบาะออกมาซักโดยการใช้น้ำยาซักผ้าสูตรอ่อนโยนสำหรับเด็ก
- นำไปตากให้แห้งแล้วนำเบาะใส่ไว้อย่างเดิม
สิ่งที่ต้องบอกลูก
การที่รถเข็นเด็กเคลื่อนที่ได้อาจทำให้เด็กๆ เห็นเป็นเรื่องสนุก คุณพ่อ คุณแม่จึงควรแนะนำลูกว่า ให้เข็นรถด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจะไปเฉี่ยวชนกับสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือชนกับเด็กคนอื่นๆ ทำให้เกิดอันตรายได้
ความปลอดภัยของเด็กๆ เป็นสิ่งสำคัญนะคะ เวลาเลือกรถเข็นเด็กควรเลือกซื้อแบบที่เหมาะสมกับลูกของเราจริงๆ อย่าเลือกซื้อตามคนอื่น เปรียบเทียบคุณสมบัติและราคาก่อนซื้อ สงสัยตรงไหนควรสอบถามพนักงานขายให้มั่นใจ เพื่อให้ลูกรักใช้รถเข็นเด็กได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดค่ะ