ของเล่นเสริมพัฒนาการ 0-6 เดือน สำหรับวัยที่เริ่มต้นของพัฒนาการ

ของเล่นเสริมพัฒนาการ 0-6 เดือน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ 0-6 เดือน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ 0-6 เดือน สำหรับเด็กแรกเกิด – 6 เดือน นั้น หากมองตามความเป็นจริงแล้ว วัยยี้ถือว่ายังเป็นวัยที่ยังไม่ค่อยจะมี ของเล่นมากนัก เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีชีวิตมาบนโลกใบนี้ ดังนั้นการจะนำของเล่นมาให้เด็กในวัยนี้ได้เล่นต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งสารอันตราย และเหลี่ยมคมต่างๆ ของเล่นที่ควรนำมาให้ก็ได้แก่ ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง ของเล่นผ้า ต่างๆ พวกของเล่นที่เป็นพลาสติกในวัยนี้ยังไม่แนะนำ เนื่องจากเป็นวัยที่บอบบางต่อสัมผัส การที่จะนำสิ่งต่างๆ มาสัมผัสกับตัวเด็ก จากการหวังดี อาจเป็นประสงค์ร้ายโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้  หากเรานำของเล่นมาให้เด็กแบบไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย ก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ของเล่นเด็ก ส่วนใหญ่ต้องได้รับการรับรอง หรือคุณสมบัติการผลิตหรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการรับรอง น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงของเล่นเด็ก ที่ผลิตด้วยวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เด็กทารกแทบทุกคนชอบหยิบของใส่ปาก ของที่อยู่รอบตัวลูกไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ แขนแม่ ลูกบอล หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน สาเหตุที่ลูกชอบเอาของเข้าปากเพราะว่าลูกคันเหงือก ดังนั้นการกัดสิ่งของรอบตัวสามารถช่วยลดอาการคันเหงือกได้บ้าง ยางกัดมักผลิตจากยาง พลาสติกและซิลิโคน โดยมากมีหลายรูปแบบและหลายขนาดเพื่อเหมาะสมต่อลักษณะของเหงือกลูกและตำแหน่งฟันแต่ละซีกที่กำลังจะขึ้นในช่องปากของลูก ผลสำรวจที่เหล่าคุณแม่ลงความเห็นว่ายางกัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นโซฟี เดอะยีราฟ (Sophie the Giraffe by Vulli)

ฉลาดเรียนรู้

เล่นแก้ปัญหา เพื่อลูกฉลาดเรียนรู้ การที่เด็กจะมีความฉลาดเรียนรู้ก็คือการที่เขามีกระบวนการคิด การรับรู้ข้อมูล ความจำและการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในเด็กเล็กๆ เราก็สามารถเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหาให้กับเขาได้ โดยทำผ่านการเล้าที่เหมาะสมกับวัยของเขา เช่น…
  • สร้างอุปสรรคให้ลูกได้คิดแก้ปัญหา เช่น ขณะที่ลูกนอนเล่นอยู่ก็ใช้ของเล่นล่อให้ลูกใช้มือคว้าจับ หรือวางของเล่นที่ลูกชอบไว้ข้างหน้า เพื่อให้ลูกหาวิธีถีบตัวเองเพื่อไปเอาของเล่นนั้น เป็นต้น
  • เล่นจ๊ะอ๋กับลูก  ขณะที่ลูกไม่เห็นเราอยู่ในสายตา เขาจะคิดว่าเราหายไปตรงจุดไหน เขาจะมองตรงจุดนั้น แต่เมื่อเราโผล่ออกมาจากอีกจุด ในครั้งต่อๆ ไป เขาจะคาดการณ์และมองไปยังจุดที่คิดว่าเราจะโผล่ออกมาให้เห็น  การเล่นนี้ช่วยฝึกทักษะการคิดให้ลูกได้อย่างดี
  • เล่นเกมหาเสียง   คุณพ่อคุณแม่สั่นกระดิ่งให้ลูกฟัง แล้วเอาไปซ่อนไว้ใต้หมอน ให้ลูกหากระดิ่งที่ซ่อนไว้ให้เจอ ลูกจะได้พัฒนาเรื่องการคิดเชิงเหตุผล  พัฒนาการสังเกต เรียนรู้และจดจำ และทักษะการฟัง

ฉลาดเคลื่อนไหว

พัฒนาประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวของลูกด้วย Playmat ลูกวัย 6 เดือน เป็นวัยที่กำลังพัฒนาประสาทสัมผัสและการใช้มือ  ซึ่ง Playmat  นับเป็นอุปกรณ์เสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยที่รวมของเล่นหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็น…
  • ตุ๊กตานุ่มนิ่ม เพื่อให้ลูกเรียนรู้สัมผัสที่แตกต่าง
  • ของเล่นมีเสียง ไม่ว่าจะเป็นแบบบีบ ขยำ หรือกด แล้วมีเสียงดนตรี ที่ช่วยพัฒนาการใช้มือและประสาทหู
  • กระจกพลาสติก  ที่ช่วยให้ลูกน้อยได้รู้จักหน้าตาของตัวเอง  ฯลฯ
  • ผิวสัมผัสของเนื้อผ้า  ด้วยลักษณะเนื้อผ้าที่หลากหลายที่นำมาใช้ประกอบ Playmat ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผิวสัมผัสที่แตกต่างออกไป
  • สีสัน  ด้วยรูปแบบของ Playmat ที่ต้องใช้วัสดุที่มีสีสันสดใส เพื่อกระตุ้นการมองของเด็ก ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสีสัน
ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนารูปแบบ Playmat  เสริมพัฒนาการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบผ้าผืนเรียบๆ หรือผสมโมบายตุ๊กตา  เพื่อให้เด็กได้สนุก เพลิดเพลินกับการคว้าจับ ได้ใช้มือประสานสายตา ได้ฟังเสียง ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อแขนขา นิ้ว  ได้รับรู้ผิวสัมผัสที่แตกต่างของเนื้อผ้า เรียกว่าได้พัฒนาประสาทสัมผัสรอบด้าน โดยหลักในการเลือก Playmat  คือต้องดูว่า ไม่มีส่วนประกอบของของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่เสี่ยงต่อการแตก ฉีก ขาด และหลุดออกมาให้เด็กกลืนกินได้  ไม่มีสิ่งที่มีความแหลมคม และทำจากวัสดุปลอดสารพิษค่ะ

ฉลาดสื่อสาร

พูดคุยสื่อภาษา พัฒนาการสื่อสาร แม้ว่าเจ้าตัวเล็กของคุณแม่จะยังพูดจาสื่อสารไม่ได้ แต่เชื่อไหมคะว่า สมองของลูกมีความสามารถที่จะจดจำและรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่คุณแม่มือใหม่พูดด้วยได้เป็นอย่างดี และจะแสดงในสิ่งที่จำได้ให้คุณแม่ได้รู้เมื่อลูกเติบโตขึ้น มีการศึกษาพบว่า เวลาที่คุณแม่ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ลูกน้อยและพูดคุยด้วยคำพูดสั้นๆ จะทำให้หัวใจของเด็กเต้นเร็วขึ้น และการพูดคุยของคุณแม่นี้เองจะทำให้สมองของเจ้าตัวเล็กเเกิดการสร้างเส้นใยประสาท เพื่อตอบสนองการพูดจาสื่อสารนั้น
  • คุยกับลูกน้อยให้บ่อยที่สุด
คุณแม่ที่พูดกับลูกบ่อยๆ จะช่วยพัฒนาการลูกน้อยทางด้านภาษาในช่วงวัยต้นของชีวิตได้มาก จากการวิจัยพบว่าครอบครัวที่พูดคุยกับเด็กให้ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เด็กอาจจะมีโอกาสได้รับรู้จำนวนของเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ถึง 13 ล้านคำ แต่ครอบครัวที่ไม่ได้พูดคุยกับลูกจะมีจำนวนของเสียงน้อยกว่ากลุ่มแรกประมาณ 8 ล้านคำ หรือน้อยกว่า 62%
  • โต้ตอบกับหนู
การที่คุณแม่พูดโต้ตอบกับลูกด้วยน้ำเสียงที่น่าสนใจ การแสดงสีหน้า หรือท่าทางกับเขา จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ถึงการอ่านสีหน้า ท่าทางได้อย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะภาษาที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว เล่นคนเดียว เมื่อโตขึ้นเด็กก็ดูแต่ทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการสื่อสารในด้านเดียว ก็จะกลายเป็นผลเสียต่อการพัฒนาภาษาและสติปัญญาของลูกในภายหลังได้

ฉลาดด้านอารมณ์

เคล็ดลับเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากลูกน้อย อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะมีความจำเป็นต่อพัฒนาการทางอารมณ์ด้านบวกของลูกเป็นอย่างมาก ลูกในวัย  6 เดือน  จะชอบกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายส่วนลำตัว ซึ่งจะกระตุ้นอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะของเด็กวัยนี้ เช่น การเล่นจั๊กจี้ที่รักแร้ หรือข้างเอว จะทำให้ลูกบิดตัวไปมาด้วยเสียงหัวเราะค่ะ อารมณ์ขันจะตลกที่สุดเมื่อมันเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้พยายามประดิษฐ์หรือแกล้งทำ คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าเวลาที่รู้สึกผ่อนคลายจะพบว่าเสียงหัวเราะมักเกิดขึ้นได้เองง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายาม คุณแม่กับลูกมักจะมีเรื่องให้หัวเราะได้มากมาย เพราะลูกจะคิดว่านั่นแม่หัวเราะอีกแล้ว หนูก็จะหัวเราะด้วย ลูกน้อยชอบอารมณ์ขันที่แสดงออกง่ายๆ อย่างชัดเจน ไม่ซับซ้อน เด็กเล็กๆ มักจะหัวเราะกับเรื่องตลกที่เห็นภาพและท่าทางค่ะ เพียงแค่คุณแม่ทำหน้าตาตลกๆ แปลกๆ ให้ลูกเห็นเขาก็จะรู้สึกขำและหัวเราะได้แล้ว นอกจากลูกจะรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับคุณแม่ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นค่ะ  

เดือนที่  1

เดือนนี้ยังคงเป็นช่วงเวลาที่แม่และเด็กต้องพยายามปรับตัวเข้าหากันอยู่ เพราะการกินการนอนของลูกน้อยยังไม่เป็นระบบนัก คือมีช่วงเวลางีบหลับและตื่นสลับกัน 7-8 ครั้งต่อวัน หรือเรียกได้ว่าตื่นร้องกันทุก 2 ชั่วโมงประมาณนั้น แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นราว 2 สัปดาห์ ลูกจะเริ่มมีช่วงเวลาหลับยาวนานขึ้น ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งทำให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นด้วย… …มาดูพัฒนาการ 360°อัจฉริยะรอบด้านของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ

ฉลาดเรียนรู้

  • ลูกเริ่มมองเห็นหน้าคุณแม่ชัดขึ้นกว่าช่วงแรกเกิดโดยเฉพาะเวลามีคนเข้ามาใกล้ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สมองเริ่มกำกับกล้ามเนื้อตา บังคับให้ลูกจับภาพใบหน้าคนได้มากขึ้น และประสาทตาสองข้างทำงานประสานกันมากขึ้น
  • ลูกค่อยๆ เริ่มเรียนรู้ว่ากลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนนอน และเขาก็ควรนอนเหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน
  • ลูกเริ่มจดจำสิ่งของที่เห็นซ้ำๆ ในช่วงเวลาห่างกัน 2-3 วินาทีได้บ้างแล้ว เช่น นาฬิกาแขวนผนัง ตู้ หรือขอบเตียงนอน  คุณแม่จึงควรแขวนโมบายล์ไว้ในระยะที่ลูกสามารถมองเห็นได้ง่าย เพื่อช่วยพัฒนาการมองเห็นของลูกและช่วยให้ลูกเพลิดเพลินเวลาที่เขาต้องตื่นอยู่คนเดียวค่ะ
  • ลูกเริ่มปรับตัวและพร้อมจะเรียนรู้โลกรอบตัวบ้างแล้ว สังเกตได้จากการที่ลูกนอนน้อยลงและชอบให้อุ้มเดิน เพื่อที่จะได้มองสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น

ฉลาดเคลื่อนไหว

  • เดือนนี้ลูกยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงได้และมักจะหงายไปข้างหลังหรือผงกมาด้านหน้า ดังนั้น เวลาอุ้มลูกน้อยจึงต้องประคองบริเวณคอไว้ให้ดี
  • ถ้าจับลูกนอนคว่ำ ลูกจะสามารถหันหน้าไปด้านข้างเพื่อหายใจได้และเมื่อจับนอนหงายอาจพลิกตัวตะแคงข้างได้
  • การเคลื่อนไหวแขนขาของลูกยังเป็นไปในลักษณะของปฏิกิริยาอัตโนมัติอยู่
  • หากขณะที่ลูกขยับแขนไปมาแล้วบังเอิญมือมาใกล้ๆ ปาก ลูกจะดูดอมมือนั้นอย่างสบายอารมณ์ทีเดียว

ฉลาดสื่อสาร

  • ลูกยังสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยเสียงร้องยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือและเงียบเสียงลงเมื่อมีคนมาอุ้ม
  • เมื่อได้ยินเสียงคน ลูกจะส่งเสียงโต้ตอบได้เป็นบางครั้ง
  • เสียงร้องของลูกคือการสื่อสารชนิดเดียวที่เขาสามารถบอกกับคนรอบข้างได้ว่า เขารู้สึก หิว ร้อน หนาว เปียกแฉะ และไม่สบายเนื้อตัวเอาเสียเลย คุณแม่และผู้เลี้ยงดูจึงต้องคอยใส่ใจและหมั่นสังเกต จับให้ได้ว่า เสียงร้องของลูกหมายถึงอะไร เพื่อตอบสนองการเลี้ยงดูได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ฉลาดด้านอารมณ์

  • สามารถคาดเดาอารมณ์ความรู้สึกของลูกได้บ้างจากสีหน้า แววตา และท่าทาง เช่น ยามที่ลูกรู้สึกพึงพอใจ สีหน้าจะนิ่งๆ ดวงตาสุกใส ขยับแขนขาไปมา แต่ถ้าไม่สบอารมณ์ก็จะเบ้หน้าร้องไห้
  • ลูกจะสงบ และมีอารมณ์ที่ดีหากช่วงเวลาที่ลูกตื่นนอน คุณแม่ได้อุ้มไปเดินเล่น รับแดดอุ่น เปลี่ยนบรรยากาศแทนการนอนอยู่แต่ในที่เดิมๆ พร้อมพูดคุยกับลูกไปด้วย
การที่คุณแม่ได้ดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าได้มากขึ้นและเร็วขึ้น ที่สำคัญคือช่วยให้ลูกคุ้นเคยและไว้วางใจต่อโลกใบนี้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

เดือนที่ 1

เทคนิคการไล่ลมหลังมื้อนม

เมื่อคุณแม่มือใหม่ให้ลูกน้อยดูดนม ก็จะมีลมในท้อง เนื่องจากมีการกลืนลมเข้าไป  โดยเฉพาะถ้ามื้อนั้นลูกหิวนมมากๆ หรือน้ำนมคุณแม่มาก ทำให้ลูกดูดเร็ว ดูดแรง ส่งผลให้ลมเข้าไปแน่นท้อง เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อ ทำให้เขารู้สึกไม่สบายท้อง จนร้องไห้โยเย คุณแม่จึงต้องไล่ลมให้ลูกรักเรอหลังมื้อนมค่ะ คุณแม่แต่ละคนจะมีวิธีการให้ลูกเรอแตกต่างกันไป เช่น อุ้มลูกพาดบ่าของคุณแม่ โดยใช้แขนข้างเดียวกับบ่ารองก้นลูกไว้ และลูกต้องตัวตั้งตรง ไม่งอ ท่านี้เป็นท่าที่เหมาะกับการเรอมากที่สุด ลูบหลังให้ลูกด้วยมืออีกข้างหนึ่ง หรืออีกท่าคือให้ลูกนั่งบนตัก แล้วใช้แขนโอบรอบตัวลูกไว้ จับตัวลูกเอนไปด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ท้องของลูกแนบกับแขนของคุณแม่ ท่านี้จะช่วยกดท้องของลูกอย่างนุ่มนวล ซึ่งจะเป็นการช่วยดันลมออกมา โดยลูบหลังให้ลูกน้อยด้วยมืออีกข้างหนึ่ง และท่าสุดท้ายคือให้ลูกนอนคว่ำบนตักของคุณแม่ มือข้างหนึ่งพยายามจับลูกให้อยู่นิ่งๆ และใช้มืออีกข้างลูบหลัง หรือตบที่หลังเบาๆ ทุกครั้งที่อุ้มลูก ต้องใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้เสมอ เพราะกล้ามเนื้อต้นคอของลูกยังไม่แข็งแรงพอ และขณะที่คุณแม่อุ้มไล่ลมให้ลูกนั้น ต้องเตรียมผ้าอ้อมสะอาดไว้ใกล้มือนะคะ เวลาที่ลูกแหวะนมออกมาจะได้หยิบใช้สะดวกค่ะ คุณแม่สามารถใช้มหาหิงส์ไล่ลมให้ลูกได้เช่นกัน โดยทาให้ลูกที่ฝ่าเท้าหรือหน้าท้องลูกก็ได้ค่ะ กลิ่นระเหยที่มีความร้อนนิดๆ จะช่วยทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวและบีบตัว ช่วยไล่ลมในท้องลูกได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าทามากเกินไป เพราะความร้อนทำให้ผิวบอบบางของลูกไหม้ได้ค่ะ สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่อุ้มลูกให้เรอแล้ว แต่ลูกไม่เรอก็อย่าเพิ่งตกใจค่ะ เพราะปกติเด็กจะเรอหรือไม่เรอก็ได้ แต่คุณแม่ควรอุ้มลูกต่อไปอีกสักแป๊บนึง เพื่อให้น้ำนมลงในกระเพาะ เมื่อลูกได้เรอออกมา เขาจะรู้สึกสบายตัว จะหลับเร็ว และนอนได้นานค่ะ