เด็กสมาธิสั้น ในปัจจุบันนี้ พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในหลายครอบครัว อาจเป็นเพราะสื่อ และสังคมทุกวันนี้เปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็ต่างจากสมัยก่อน เมื่อเทียบกันแล้ว จึงทำให้เด็กสมัยนี้มีความสนใจหรือจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นานนัก จริงๆ สาเหตุตามผู้เชี่ยวชาญก็มีมากมายแล้วแต่สังคมของครอบครัวนั้นๆ แตกต่างกัน สำหรับวิธีแก้ เด็กสมาธิสั้น หรือ เด็กไฮเปอร์ มี 7 วิธีดังนี้
1. ลดสิ่งเร้ารอบข้าง เด็กสมาธิสั้น
สิ่งเร้าเป็นตัวสำคัญที่ทำให้สมาธิของลูกน้อยลง เพราะฉะนั้นการลดสิ่งเร้าลง สมองจะไม่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เด็กไม่จดจ่ออยู่กับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สำคัญ นำไปสู่การมีสมาธิกับสิ่งสำคัญได้มากขึ้น
สำหรับวิธีลดสิ่งเร้านั้น พ่อแม่ควรจัดบ้านให้เรียบง่าย ไม่ควรมีลวดลายสีฉูดฉาด และของที่ใช้ตกแต่งไม่มากเกินไป พร้อมทั้งจัดของให้เป็นระเบียบ นำของไปเก็บไว้ที่ตู้ทึบแทนตู้กระจก
– จัดที่เงียบสงบไว้ให้เด็กได้ทำงาน หรือทำการบ้าน ต้องห่างจากโทรทัศน์ไม่ให้มีเสียงเข้ามารบกวนและบนโต๊ะที่จัดไว้ควรมีแค่สมุดกับอุปกรณ์เครื่องเขียนเท่านั้น
– พูดกับเด็กด้วยน้ำเสียงที่เบาๆ ไม่ตะโกน รวมทั้งพ่อแม่ไม่ควรทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรงต่อหน้าลูก
– หัดให้เด็กอยู่ในบรรยากาศที่สงบ หรือทำกิจกรรมแบบเงียบๆ เช่น หัดให้นั่งเล่นในสนามหญ้าเงียบๆ ควรลดการเที่ยวศูนย์การค้า ลดการซื้อของเล่นเด็ก หรือ ของเล่นเสริมพัฒนาการ ที่มากเกินความจำเป็นรวมถึงการจำกัดเวลาดูโทรทัศน์ เล่นเกม และคอมพิวเตอร์
ด้านสภาพแวดล้อมที่โรงเรียน ไม่ควรให้นั่งใกล้ประตูหน้าต่าง หรือเพื่อนที่ชอบเล่น ชอบคุย ควรให้เด็กนั่งใกล้ๆกับครู
.
2. เฝ้ากระตุ้น
– เด็กเล็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา แม้จะรู้ และเข้าใจว่าควรทำสิ่งใดก็ตาม จึงจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่คอยติดตาม และตักเตือนอย่างใกล้ชิด
– เด็กต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่ และครูตลอดเวลา
– ชวนเด็กทำบันทึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่ และครู
วิธีการกระตุ้น เด็กสมาธิสั้น
– เตือนเด็กเมื่อหมดเวลาเล่น หรือเตือนเมื่อต้องไปทำงาน
– เขียนข้อความสำคัญไว้ในที่ที่เด็กเห็นได้ง่าย เช่น กล่องดินสอ โต๊ะเรียน ผนังห้อง หรือกระดาน
– ตั้งนาฬิกา หรือตั้งเครื่องจับเวลาให้เด็กเห็นชัดๆในขณะที่ทำงาน เพื่อให้เด็กรู้ระยะเวลาได้ดีขึ้น และตั้งใจทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด
– เวลาทำงานให้แบ่งงานให้สั้นลง โดยให้เด็กได้พักเป็นช่วง ๆ
– เคล็ดลับวิธีช่วยจำให้กับลูก เช่น การย่อ ทำสัญลักษณ์ ผูกเป็นโคลงกลอน
– ให้เด็กอ่านออกเสียงและหัดขีดเส้นใต้ขณะเรียน
3. หนุนนำจิตใจ
– เด็กมักทำสิ่งต่างๆ ไม่สำเร็จ เพราะว่าได้รับแต่คำตำหนิจากผู้อื่น ทำให้หมดความมั่นใจในการกระทำสิ่งนั้นๆ เด็กจึงต้องการกำลังใจอย่างมากจากพ่อแม่ และคุณครู
– ควรเปิดโอกาสให้เด็กคิดมากกว่าที่จะจับผิด และเข้มงวดกับเด็ก
– หาจุดอ่อนของเด็กและช่วยเด็กหาวิธีแก้ไขจุดอ่อน เช่น ขี้ลืม
– หาเรื่องตลกขำขันมาคุยกับเด็ก เล่นกับเด็กอย่างสนุกสนาน หรือพาเด็กออกกำลังกายบ้าง
– ชมเด็กบ่อยๆ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไปในทางที่ดี หรือมีความสำเร็จเล็กๆ น้อย ๆจากสิ่งที่เด็กตั้งใจทำ
– พูดในสิ่งที่สังเกตได้ในทางบวก เช่น เหนื่อยไหม แม่เห็นลูกทำมานานแล้ว วันนี้ลูกคิดได้เร็วกว่าเมื่อวานเยอะเลยนะ หรือ ทำมาได้ตั้ง 3 ข้อแล้ว เอ้าเหลืออีก 2 ข้อเองคนเก่งของพ่อ
.
4. การให้รางวัล
เด็กที่สมาธิบกพร่อง มักจะขาดความอดทน และเบื่อง่าย แต่หากมีรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ เด็กจะรู้สึกท้าทาย และตั้งใจในการทำงานมากขึ้น โดยการให้รางวัล ควรให้แบบง่ายๆ บ่อยๆ มากกว่าที่ให้เด็กทั่วไป และต้องให้ในทันที
นอกจากนี้ควรเปลี่ยนของรางวัลบ่อยๆ เพื่อให้เด็กได้สนุก ตื่นเต้น และสนใจ อาจให้เด็กได้ลองคิดรางวัลเองบ้าง หรือให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และมีส่วนร่วมในการให้คะแนน/รางวัลแก่เด็กตลอดเวลา
สำหรับการให้รางวัล ถือเป็นแรงจูงใจที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กได้ โดยมีขั้นตอนการให้รางวัลง่ายๆ คือ
– ระบุพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นทดแทนพฤติกรรมปัญหา (ควรเลือกให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีผลต่อเด็กในระยะยาวก่อน)
– ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ดีในทุกครั้งที่เห็น
– หลังจากฝึกได้ 1-2 สัปดาห์ ควรเริ่มใช้การลงโทษแบบไม่รุนแรง เช่น Time out ตัดสิทธิ์ อดรางวัล เมื่อเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
– ใช้วิธีการให้รางวัลมากกว่าการลงโทษ
.
5. การพูดกับเด็ก
– ไม่พูดมาก ไม่เหน็บแนม ไม่ประชดประชัน ไม่ตำหนิจนเกินไป
– บอกกับเด็กสั้นๆ ง่ายๆ ว่าต้องการให้ทำอะไรในตอนนี้
– หากไม่แน่ใจว่าเด็กฟังอยู่หรือเปล่า เข้าใจหรือไม่ พ่อแม่ควรให้เด็กทบทวนว่าสิ่งที่สั่ง หรือที่พูดไปคืออะไรบ้าง
แต่อย่างไรก็ดี หากเด็กไม่ทำตามคำสั่ง พ่อแม่ควรใช้วิธีเดินเข้าไปหา จับมือ แขน หรือไหล่ สบตาเด็ก พูดสั้น ๆ จากนั้นให้เด็กพูดทวนคำสั่ง หากเด็กไม่ทำตามให้พาไปทำด้วยกัน หลีกเลี่ยงการบังคับ หรือออกคำสั่งโดยตรง แต่จะใช้วิธีบอกกับเด็กว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง เช่น หากต้องการให้เด็กเริ่มต้นทำการบ้าน แทนที่จะสั่งให้เด็กทำการบ้านตรงๆ อาจพูดว่า “เอาล่ะได้เวลาทำการบ้านแล้ว…หนูจะเริ่มทำภาษาไทยก่อน หรือจะทำเลขก่อนดีจ๊ะ” เป็นต้น
6. นับสิ่งดี
– หาเวลาหยุดพักสั้นๆ ในแต่ละวัน
– เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เด็กไม่ได้ตั้งใจทำตัวให้มีปัญหา แต่เด็กมีความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้คุมตัวลำบาก หยุดตัวเองได้ยาก และไม่มีใครอยากเป็นแบบนี้
– ให้อภัยแก่เด็ก ตัวเราเอง และทุกคนที่อาจไม่เข้าใจในพฤติกรรมของลูก
– คิดถึงความน่ารัก และความดีในตัวเด็ก และตัวเรา (พ่อแม่) เอง
.
7. มีขอบเขต
– มีตารางเวลา หรือรายการสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้เด็กรับรู้ในขีดจำกัดของตัวเอง และช่วยควบคุมให้เด็กทำตามง่ายขึ้น
– เรียงลำดับกิจกรรมให้ชัดเจน และแน่นอน เช่น เวลาตื่น เวลานอน เวลาทำการบ้าน อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ
– ไม่ปล่อยปละละเลย หรือไม่ตามใจเด็กมากเกินไป เพื่อไม่ให้เด็กสับสนและผัดผ่อนต่อรองได้บ่อยๆ
อ้างอิง
http://www.manager.co.th