เมื่อลูกอายุประมาณ 6 – 10 เดือน จะเป็นช่วงที่เบบี๋ตัวน้อยมีความสุขที่ได้คืบคลานเคลื่อนย้ายตัวเองได้อย่างอิสระ ไม่ต้องอยู่แต่ในที่นอนแบบเดิมๆ แสนจะสุขซะนี่กระไร แต่แหม แม่ๆ อย่างเราๆ ก็ชักจะไม่สุขด้วยซะแล้วซิคะ เพราะความที่ลูกเริ่มคลานเก่งนี่เอง เดี๋ยวจะล้มหัวฟาดพื้นไหม จะตกเตียง หรือหงายหลังไปหรือเปล่า ความกังวลว่าลูกจะได้รับบาดเจ็บ ทำให้เราเริ่มคิดหาตัวช่วยว่าจะทำอย่างไรให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและปลอดภัยดี พอคิดมาถึงตรงนี้คำว่า “แผ่นรองคลาน“ ก็ปิ๊งขึ้นมาในหัวขึ้นมาทันใด แต่เอ…พอจะไปซื้อจริงๆ กลับพบว่า ในท้องตลาดนั้นมีแผ่นรองคลานหลายๆแบบ มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน แล้วเราจะเลือก แผ่นรองคลานแบบไหนดี นะ ? วันนี้ KJToys ขอเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจให้คุณค่ะ
ก่อนอื่นเรามาดูข้อดีของ แผ่นรองคลาน กันก่อนนะคะ
1. แผ่นรองคลานช่วยลดแรงกระแทก ป้องกันการบาดเจ็บ จากการล้ม หรือหงายหลัง
2. ป้องกันความเย็นจากพื้น
3. ป้องกันพื้นเสียหาย หากลูกทำอาหารและน้ำหกเลอะเทอะ
4. สร้างวินัยให้ลูกได้ ด้วยการฝึกให้ลูกรู้ว่าเขาจะเล่นได้อย่างอิสระบริเวณนี้นะ
5. ช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในการคลานมากยิ่งขึ้น เพราะเด็กบางคนที่เคยบาดเจ็บจากการคลาน
หรือหกล้มลงบนพื้นแข็งๆ ก็จะกลัวการเจ็บ และไม่กล้าคลานต่อไป
แผ่นรองคลาน ที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ แผ่นรองคลานแบบจิ๊กซอว์ แผ่นรองคลานแบบผืนใหญ่ และแผ่นรองคลานจากผ้า ซึ่งแต่ละแบบมีลักษณะ และข้อดี – ข้อด้อย ดังนี้ค่ะ
1. แผ่นรองคลานแบบจิ๊กซอว์
แบบนี้จะมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ออกแบบเป็นรูปตัวอักษร A – Z บ้าง ตัวเลข 0 – 9 บ้าง หรือเป็นแบบลายการ์ตูน เพื่อให้เด็ก ๆ มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ข้อดี : มีน้ำหนักเบา ราคาถูก ขนย้ายได้ง่าย สามารถแบ่งออกเป็นชิ้นๆ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ในบ้าน มีความหนาและยืดหยุ่น ช่วยรองรับแรงกระแทกได้ดี เด็กๆ สามารถนำมาต่อกันเหมือนเล่นต่อบล็อกก็ได้ เสริมพัฒนาการไปในตัว
ข้อด้อย : อาจเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น และเชื้อโรค
2. แผ่นรองคลานแบบผืนใหญ่
แบบนี้จะมีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ เหมือนเสื่อและสามารถม้วนเก็บได้ แบ่งตามวัสดุ
ที่ใช้ผลิตได้ 2 ชนิด คือ
• แผ่นรองคลานที่ทำจาก PE (Polyethylene) มีลักษณะคล้ายโฟม มี 2 แบบ คือ แบบเย็บหุ้มขอบด้วยผ้า หรือใช้วิธีรีดขอบ ซึ่งแบบรีดขอบจะดีกว่าตรงที่ไม่สะสมฝุ่น เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ดังนั้น เวลาเลือกซื้อควรพิจารณาจากแบบที่มีความหนา 10 มิลลิเมตรขึ้นไปเพื่อให้รองรับแรงกระแทกได้ดี
ข้อดี : น้ำหนักเบา ราคาถูก
ข้อด้อย : อายุการใช้งานสั้น เวลาเด็กคลานหรือเดินจะมีเสียง และหากถูกของมีคมอาจจะขาดได้ง่าย
• แผ่นรองคลานที่ทำจาก PVC มีลักษณะเหมือนแผ่นยาง ใช้วิธีการรีดขอบแทนการเย็บหุ้ม
ขอบทำให้ไม่มีเหลี่ยมมุมที่เป็นอันตราย และไม่สะสมฝุ่น
ข้อดี : มีความนุ่ม ยืดหยุ่นสูง รองรับแรงกระแทกได้ดี สีสันสดใส มีความทนทานและอายุการใช้งานนานกว่าแบบ PE เวลาเด็กคลานหรือเดินจะไม่มีมีเสียง แผ่นรองคลานที่ทำจาก PVC สามารถกันน้ำได้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความชื้นและเชื้อรา
ข้อด้อย : เนื่องจากมีลักษณะคล้ายแผ่นยางจึงมีน้ำหนักมาก อาจขนย้ายไม่ค่อยสะดวก และมีราคาสูง
3. แผ่นรองคลานที่ทำจากผ้าฝ้าย
ข้อดี : อ่อนโยนต่อผิว ระบายอากาศได้ดี ซักด้วยมือและซักด้วยเครื่องซักผ้าได้ ใช้งานง่ายป้องกันไรฝุ่น มียางกันลื่นด้านล่าง ช่วยยึดเกาะพื้นไม่ลื่นล้มง่าย เย็บเก็บขอบเรียบร้อย ไม่มีความแหลมคม เคลื่อนย้ายและพับเก็บได้สะดวก
ข้อด้อย : ราคาสูง
สิ่งที่ควรพิจารณาประกอบการเลือกซื้อ แผ่นรองคลาน
1. ความแข็งแรง ทนทาน หากเป็นแบบยางควรเหนียว ไม่ฉีกขาดง่าย
2. ความหนาของเสื่อหรือเบาะ
3. ใช้สี Non Toxic ปลอดสารพิษ ไม่มีสารตกค้างจึงปลอดภัยสำหรับเด็ก
4. ได้รับ มอก. ไหม / กันน้ำได้หรือเปล่า
5. ทำความสะอาดอย่างไร เช่น เช็ดหรือซัก
6. ไม่ควรมีกลิ่นฉุน เพื่อไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
7. หากเป็นแบบจิ๊กซอว์ ควรเลือกแบบที่รอยต่อประกอบกันสนิท
8. หากเป็นแบบเสื่อ ควรพิจารณาเรื่องการเย็บขอบให้เรียบร้อย
9. บางยี่ห้อจะมีการรับประกันสินค้าให้ด้วย เป็นอีกข้อที่น่าสนใจ
10. ไม่ควรซื้อแบบที่ราคาถูกมากเกินไป เพราะอาจไม่รองรับการกระแทกเพียงพอ
อย่างไรก็ดี เมื่อเลือกซื้อแผ่นรองคลานกันมาแล้ว ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเก็บกวาด
สิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกได้ โดยเฉพาะของชิ้นเล็กๆ เช่น กระดุม ลูกปัด เหรียญ ตัวต่อ ชิ้นส่วนของเล่น เมล็ดผลไม้ ลูกอม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหยิบสิ่งของเข้าคอ
การเรียนรู้ เป็นเรื่องสำคัญ แต่อันตรายก็เป็นเรื่องสำคัญนะคะ ใส่ใจเพิ่มขึ้นอีกสักนิด
เพื่อให้ลูกเรามีความสุข และปลอดภัยขึ้นได้อีกเยอะเลย
เชื่อว่าข้อมูลเรื่อง “แผ่นรองคลาน” ที่เรานำมาฝากแม่ๆ กันในวันนี้ จะมีประโยชน์ต่อ
การตัดสินซื้อบ้างไม่มากก็น้อย แล้วคราวหน้าเราจะนำข้อมูลผลิตภัณฑ์ดีๆ ชนิดใดมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามนะคะ